วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

โบราณสถานเขาคลังนอก






ในปีงบประมาณ พ.ศ.2551 กรมศิลปากร โดยอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานเขาคลังนอก ซึ่งเป็นการดำเนินงานศึกษาด้านวิชาการโบราณคดีทั้งหมด รวมไปถึงการออกแบบเพื่อการบูรณะในปีถัดไป ปัจจุบันโบราณสถานเขาคลังนอก มีที่ตั้งอยู่ในเขต หมู่ที่ 11 บ้านสระปรือ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ทางด้านทิศเหนือของเมืองโบราณศรีเทพ ห่างออกไปราว 2 กิโลเมตร ที่มาของชื่อเขาคลังนอก เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันมาแต่เดิม เพราะเหตุว่ามีรูปร่างลักษณะคล้ายภูเขาสูงใหญ่และเชื่อกันว่ามีทรัพย์สมบัติและอาวุธเก็บรักษาอยู่ภายใน ประกอบกับในเขตเมืองโบราณศรีเทพ มีโบราณสถานที่มีลักษณะคล้ายภูเขาที่เรียกว่า “เขาคลังใน” จึงได้เรียกโบราณแห่งนี้ว่า “เขาคลังนอก” สภาพก่อนการดำเนินงานทางโบราณคดีนั้น พบว่ามีลักษณะเป็นเนินคล้ายภูเขาขนาดใหญ่มีต้นไม้ขึ้นหนาทึบ มีเศษอิฐและศิลาแลงกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งบริเวณ บริเวณด้านบนเนินปรากฏหลุมลักลอบขุดขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นโพรงลึกลงไป ทำให้เห็นโครงสร้างภายในที่ก่อด้วยอิฐอย่างชัดเจน จากการดำเนินงานทางโบราณคดี พบว่าผังของอาคารมีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่มีการยกเก็จหรือเพิ่มมุมตามระเบียบแบบแผนของอาคารแบบทวารวดี ฐานมีขนาดเฉลี่ย กว้างด้านละประมาณ 64 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอด ประมาณ 20 เมตร โดยใช้ศิลาแลงก่อสูงขึ้นไปจนมีขนาดใหญ่โต แบ่งเป็น 2 ชั้นหลักๆ โดยแต่ละชั้นสูงประมาณ 5 เมตร มีการประดับตกแต่งฐานอาคารโดยการก่อเป็นซุ้มคล้ายอาคารจำลองหลายขนาดที่มีเสาประดับ วางซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปโดยรอบ แต่ไม่พบร่องรอยของการฉาบปูนและปูนปั้นประดับเหมือนที่โบราณสถานเขาคลังใน และพบชิ้นส่วนยอดของสถูปขนาดเล็กที่ใช้ประดับอาคาร มีบันไดทางขึ้นสู่ด้านบนทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีซุ้มประตูตั้งอยู่ด้านบน เพื่อผ่านเข้าไปยังลานประทักษิณเพื่อประกอบศาสนพิธีที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว บนฐานเขียงด้านทิศตะวันออกของสถูปก่ออิฐด้านบน ยังปรากฏร่องรอยของหลุมเสาไม้ แต่ไม่พบร่องรอยของกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการก่อศิลาแลงทับซ้อนอยู่บนชั้นพังทลาย แสดงถึงการเข้ามาใช้พื้นที่ประกอบศาสนพิธีด้านบนในสมัยหลังอีกด้วย องค์สถูปด้านบนก่อด้วยอิฐแบบทวารวดี ลักษณะสถูปประกอบด้วยฐานเขียงที่ซ้อนกันตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง เหนือขึ้นไปพบว่ามีร่องรอยการก่อลดชั้นและยกเก็จที่มุม ซึ่งอาจมีองค์สถูปทรงกลมตั้งอยู่ด้านบน แต่ปัจจุบันพังทลายไปมากแล้ว ศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ แห่งภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้ความเห็นว่า เขาคลังนอกมีลักษณะเป็นมหาสถูป ตั้งอยู่นอกตัวเมืองโบราณ อาจรับคติการสร้างจากพุทธศาสนามหายาน ที่นิยมสร้างอาคารบนฐานสูง รูปแบบผังมณฑลจักรวาล และมีความสัมพันธ์กับเขาถมอรัตน์ ที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองศรีเทพไปทางทิศตะวันตก เป็นระยะเกือบ 20 กิโลเมตร โดยมีภาพสลักเกี่ยวกับพุทธศาสนามหายานอยู่ภายในถ้ำบนยอดเขา และน่าจะมีอายุร่วมสมัยกัน จุดเด่นของโบราณสถานแห่งนี้ อยู่ที่ฐานอาคาร ซึ่งยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ และมีรูปแบบศิลปะอินเดียผสมผสานอยู่มาก กล่าวได้ว่าในประเทศไทยยังไม่เคยพบโบราณสถานที่ร่วมสมัยกัน ที่ยังคงสภาพและมีขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อน แสดงคุณค่าทางรูปแบบศิลปกรรมอย่างชัดเจน โบราณวัตถุสำคัญที่พบ ได้แก่ พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี สลักจากหินทรายสีเขียว มีลักษณะประทับยืนปางแสดงธรรม (วิตรรกะ) 2 พระหัตถ์ ขนาดสูง 57 ซ.ม. กว้าง 16 ซ.ม. กล่าวโดยสรุปว่า โบราณสถานเขาคลังนอกมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นสถูปที่ตั้งอยู่บนฐานขนาดใหญ่ มีการใช้พื้นที่ประกอบศาสนพิธีอยู่ด้านบน มีรูปแบบศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียอย่างชัดเจน อายุสมัยน่าจะอยู่ในช่วงราว 1,200 – 1,300 ปี มาแล้ว หรือในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี และมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับชุมชนที่เจริญขึ้นที่เมืองโบราณศรีเทพ และเขาถมอรัตน์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน โบราณสถานแห่งนี้ กรมศิลปากรได้สำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 80 ตอนที่ 29 วันที่ 26 มีนาคม 2506 หน้า 859 โดยขึ้นทะเบียนดังนี้ “คลังนอกเมืองศรีเทพ บ้านหนองปรือ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมทั้งเขตที่ดิน รวมเนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ 1 งาน” ทั้งนี้ได้ขึ้นทะเบียนพร้อมๆกับตัวเมืองศรีเทพและปรางค์นอก (ปรางค์ฤาษี)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น